ผาแต้ม

สภาพภูมิประเทศอุทยานแห่งชาติผาแต้ม (Topography) 
            สภาพโดยทั่วไป เป็นที่ราบสูงและเนินเขาสูงชัน ลักษณะสูงต่ำสลับกันทั่วพื้นที่ ลักษณะทางธรณีวิทยาเกิดจากการแยกตัวของผิวโลก เป็นเทือกเขาเดียวกับเทือกเขาพนมดงรัก หรือ ดงเร็ก ซึ่งเขาพระวิหารตั้งอยู่ ตามแผนที่ทางธรณีวิทยา ให้ชื่อหน่วยภูพานและพระวิหารเป็นภูเขาหินทรายมีที่ราบอยู่บ้างแถบริมห้วยและตามแนวแม่น้ำโขง ในส่วนที่ราบสูงแต่ละแห่งมีเนื้อที่ 800 – 1,300 ไร่ ห่างจากลำน้ำประมาณ 1 – 2 กิโลเมตร จะเป็นหน้าผาสูงชัน ยอดเขาที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม คือยอดเขาภูจันทร์แดง มีความสูงประมาณ 461 เมตร ระดับความสูงปานกลางน้ำทะเล และความลาดชันลดหลั่นลงมาทางด้านแม่น้ำโขง ความสูงของพื้นที่โดยเฉลี่ยประมาณ 200 เมตร จากระดับน้ำทะเล และจากแผนที่ธรณีวิทยามาตราส่วน 1: 500,000 ของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม พื้นที่ทั่วไปมีหินทรายโผล่เป็นลานหินกระจัดกระจายทั่วพื้นที่ ดินที่พบในแถบที่ราบลุ่มเป็นดินร่วนปนทราย และดินเหนียวแถบริมแม่น้ำ มีตะกอนและฮิวมัสมาก และห้วยที่สำคัญ เช่น ห้วยใหญ่ ห้วยสร้อย ห้วยหละหลอย ห้วยพอก ฯลฯ ห้วยต่าง ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง 

ตั้งอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติผาแต้ม อ.โขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 95 กิโลเมตร อยู่ในภูหินทราย เรียก “ภูผาขาม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ตามเส้นทางไปผาแต้มนั้นจะพบ “เสาเฉลียง” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่บังเอิญเกิดขึ้น เป็นเสาหินคล้ายเห็ด ที่เกิดขึ้นโดยการถูกกัดเซาะของชั้นหิน ด้วยการกระทำของน้ำที่ไหลผ่าน อีกทั้งบริเวณนี้ร้อน จึงทำให้เกิดการพังทลายของชั้นหินอย่างรุนแรง

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวผาแต้ม การเดินทางมาเที่ยวชมผาแต้มต้องเข้าทางอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จากอำเภอโขงเจียมใช้เส้นทางทางหลวงหมายเลข 2112 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร จากตัวอำเภอ เลี้ยวขวาที่ทางหลวงหมายเลข 2368 ประมาณ 5 กิโลเมตร ผ่านต่านตรวจของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ชำระค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติ จากนั้นขับตามเส้นทางถนนลาดยางขึ้นมาจนสุดถนน ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร โดยจะผ่านเสาเฉลียงอยู่ซ้ายมือและทางแยกเข้าลานกางเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จอดรถที่หน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว แล้วจากนั้นเดินต่อไปยังผาแต้มระยะทางประมาณ 100 เมตร

ขอบคุณข้อมูลจากhttps://www.touronthai.com/article/3111

 ตรงบริเวณหน้าผา ปรากฏหลักฐานและร่องรอยทางโบราณคดี ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ “ภาพเขียนสี” มีอายุราว 3,000-4,000 ปี เป็นภาพที่ถูกเขียนโดยสีฝุ่นที่มีสีแดงเป็นส่วนใหญ่ มีสีดำเพียงเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่มักพบกระจัดกระจายอยู่ตามแนวหน้าหินผาริมโขง ได้แก่ โหง่นแต้ม ถ้ำฝ่ามือแดง ผาเจ๊ก ผาเมย ผาขาม และโดยเฉพาะที่ผาแต้ม มีภาพเขียนมากมายกว่า 300 ภาพ เรียงรายตามความยาวของหน้าผา ติดต่อกันราว 18 เมตร เป็นรูปภาพปลาบึก ช้าง ผู้ชาย ผู้หญิง ก้างปลา (คล้ายภาพเอ็กซเรย์) ตุ้ม (เครื่องมือจับปลา) ฝ่ามือ รวมทั้งลายเส้นรูปสามเหลี่ยมและรูปทรงขนาน

 นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบ “โลงศพ” ของมนุษย์อยู่ภายในซอกหินบนภูโลง เป็นโลงศพที่ทำจากไม้ ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพดี เพราะไม่ถูกแดดถูกฝน สันนิษฐานว่า เป็นของมนุษย์ในสมัยก่อน ส่วนกระดูกและสิ่งของภายในโลง ได้หายไปก่อนที่จะถูกค้นพบ

ผาแต้มนับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ มีลักษณะเด่นที่ภาพเขียนสีที่ผนัง ตลอดจนภูมิประเทศโดยรอบสวยงาม ด้านตรงข้าม จะเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจ จะชมดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนที่แห่งใดในประเทศไทย ในบริเวณดังกล่าว ในลักษณะเดียวกันกับที่หมู่บ้านเวินบึกที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ไม่ไกลจากแม่น้ำสองสีมากนัก ซึ่งทุกวันนี้จะมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปเที่ยวเป็นจำนวนมาก

ผาแต้ม จุดชมวิวพระอาทิตย์ก่อนใครในสยามเป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวขาวไทยและชาวต่างชาติ ทิวทัศน์ของผาแต้มมองเห็น 2 ฝั่งริมแม่น้ำโขงทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว โดยจะมีเทือกเขาในพรมแดนของลาวยาวขนานกับเทือกเขาที่เป็นที่ตั้งของผาแต้มที่เรากำลังยืนชมวิวที่สวยงามนี้อยู่ แต่ไม่ใช่ว่าทุกวันที่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นสวยๆ แบบนี้เราเองก็เคยผิดหวังเหมือนกันที่เกิดฟ้าปิดในช่วงเช้า ส่วนภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายได้เมื่อหลายปีก่อน ปีนี้ไปอีกต้นไม้ต้นนี้ก็ไม่ได้โตขึ้นสักเท่าไหร่เลยครับ

ผาแต้ม บนจุดชมวิวของผาแต้มมีสิ่งที่น่าสนใจรออยู่เบื้องล่างนั่นก็คือภาพวาดก่อนประวัติศาสตร์อายุมากกว่า 3,000 ปี ที่เจ้าหน้าที่จะต้องรักษาสภาพของภาพวาดสีแดงที่อยู่บนผนังของผาแต้มเอาไว้ให้นานที่สุด เป็นอีกสิ่งหนึ่งนอกเหนือไปจากการขึ้นมาชมพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งบริเวณอำเภอโขงเจียมเป็นส่วนที่อยู่ด้านตะวันออกที่สุดของประเทศไทย ผาแต้มและผาชะนะไดจึงกลายมาเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่จะมองเห็นดวงอาทิตย์ก่อนพื้นที่อื่นๆ ของไทยนั่นเอง

บนผาแต้มมองลงไปพอจะเห็นทางเดินชมภาพวาดก่อนประวัติศาสตร์เบื้องล่าง ในขณะเดียวกัน ถ้าเราลงไปเดินชมภาพวาดโบราณ ก็จะมองเห็นยอดผาแต้มอันเป็นจุดชมวิวที่เรายืนอยู่นั่นเองทิวทัศน์สองฝั่งโขงผาแต้ม หลังจากที่พระอาทิตย์ขึ้นแล้วเราจะมองเห็นวิวทิวทัศน์อันสวยงามของฝั่งโขงได้ชัดเจนมากขึ้น เบื้องล่างของผาแต้มมีถนนอีกสายหนึ่งที่ขนานกับแม่น้ำโขง มีชุมชนอาศัยอยู่เบื้องล่างเพราะมีที่ราบค่อนข้างกว้าง เพียงพอต่อการเกษตรกรรม

ป้ายผาแต้ม มุมถ่ายรูปยอดนิยมของผาแต้มก็คือตรงป้ายที่เขียนว่า ผาแต้ม มีป้ายแบบคล้ายๆ กันอยู่บนจุดชมวิวผาแต้ม 2 ป้าย มีข้อความต่างกันเล็กน้อย ทั้ง 2 ป้ายเป็นมุมถ่ายรูปที่ได้รับความนิยมอย่างมากของทุกคนที่มาเที่ยวผาแต้ม แม้ว่าในวันที่ไม่เห็นพระอาทิตย์โผล่พ้นยอดเขาขึ้นมาก็ยังถ่ายรูปกับป้ายไว้ก็ยังดี

แผนผังการเดินชมภาพวาดโบราณ หลังจากที่พระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าขึ้นมาสูงพอสมควร การถ่ายรูปจุดชมวิวก็สิ้นสุดลงไปด้วย ต่อจากนี้จะเป็นการเดินลงไปชมภาพวาดโบราณก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งได้รับการยืนยันหลังจากทำการศึกษาแล้วว่ามีอายุมากกว่า 3000 ปี เส้นทางบนแผนผังบอกให้รู้ว่าระยะทางในการเดินชมภาพวาดนี้ยาวประมาณ 4 กิโลเมตร โดยปกตินักท่องเที่ยวจำนวนมากเลือกที่จะลงไปชมภาพวาดกลุ่มที่ 2 ชื่อผาแต้ม อันเป็นจุดที่มีภาพวาดมากมายเรียงรายกันอยู่บนผาหิน ยาวประมาณ 20 เมตร ห่างจากภาพวาดโบราณกลุ่มแรกผาขาม ประมาณ 300 เมตร รวมระยะทางจากจุดเริ่มต้นทางเดินประมาณ 800 เมตร หลังจากนั้นก็จะเดินกลับขึ้นมาตามทางที่เดินลงไป มากกว่าที่จะเดินต่อไปจนครบ 4 กลุ่มแล้วเดินขึ้นมาบนผาหมอน ซึ่งจะต้องเดินกลับมายังลานจอดรถหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 4 กิโลเมตร

เส้นทางชมภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ผาแต้ม หลังจากได้ศึกษาเส้นทางการเดินศึกษาภาพวาดก่อนประวัติศาสตร์กันแล้วก็ออกเดินทางกันได้ ทางลงจากผาแต้มมีป้ายบอกทางไว้เดินลงไปจะเห็นบันไดค่อยๆ ลาดลงไปข้างล่าง มีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่ป้ายหินอ่อน พระสัญลักษณ์ประจำพระองค์ พระนามาภิไธยย่อ สธ ติดอยู่บนผาหิน มีวันที่ที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนผาแต้มระบุไว้ว่า 20 พฤษภาคม 2531 ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษในขณะที่เดินชมภาพวาดโบราณก็จะมีผึ้ง ผึ้งมาทำรังเกาะผาหินมีความสูงของรังแตกต่างกันไป แต่จะดูแปลกตากว่าที่อื่นๆ เพราะผึ้งที่นี่ทำรังใกล้กันเป็นกลุ่ม บางแห่งมีเกือบ 10 รัง มีหลายๆ รังที่กำลังอยู่ในช่วงการสะสมน้ำหวาน เป็นรังใหม่ บางส่วนก็มีน้ำหวานมากเพียงพอแล้วจึงเห็นมีผึ้งจำนวนมากเกาะกันเป็นกลุ่มใหญ่เฝ้าระวังรังของมันจากศัตรูที่มารบกวน
ภาพด้านล่างขวาเป็นภาพระเบียงสำหรับขึ้นไปชมภาพวาดโบราณซึ่งจะมีอยู่เป็นระยะๆ ตรงหน้าภาพวาดของกลุ่มที่ 1 ผาขาม และกลุ่มที่ 2 ผาแต้ม หลังจากนั้นก็จะไม่มีระเบียงอีกแต่จะมองเห็นภาพวาดสีแดงบนผนังผาหินที่เราเดินอยู่ได้อย่างชัดเจนหลายจุด

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://www.touronthai.com/article/3111

ลักษณะหิน (Stone) 
            1. หินหน่วยภูพาน (Phu Phan Formation ) เป็นหินทราย (Sandstone) สีขาว สีส้มเรื่อ สีน้ำตาลปนเหลือง มีการตกทับถมเป็นรอยชั้นขวาง (Crossbedding sedimentation ) อยู่เป็นหินที่เกิดในยุค Cretaceous (ประมาณ 132 ล้านปีมาแล้ว) 
            2. หินหน่วยเสาขรัว (Sao Khua Formation ) เป็นหินทรายสีน้ำตาลอมแดง สีเทา และหินทรายแป้ง (Silt Stone) ที่ส่วนใหญ่จะมีแร่ไมก้าปนอยู่ มีสีเทา สีน้ำตาล บางส่วนจะปนหินกรวดมน และหินดินดาน (Shale) สีน้ำตาลอมม่วงและแดงอิฐ เป็นชั้นหินที่มีอายุเก่ากว่าชั้นหินหน่วยภูพานอยู่ในยุค Jurassic (180 ล้านปีผ่านมา) 
            3. หินหน่วยพระวิหาร (Phra Wihan Formation) เป็นหินทรายสีขาว สีชมพู ตอนบนของชั้นหินกรวดทรายจะมีชั้นขวาง บางส่วนจะเป็นดินดานที่มีสีน้ำตาลอมแดง และสีเทา 
ลักษณะดิน (Soil Feature) 
            ในอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ตามแผนจัดการสำรวจดินจังหวัดอุบลราชธานี มาตราส่วน 1 : 250,000 จัดทำโดยกองสำรวจ และจำแนกดิน กรมพัฒนาที่ดิน พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง ส่วนในพื้นที่เล็กๆ นั้นส่วนใหญ่ใช้ในการปลูกพืช ซึ่งโดยหลักการแล้วดินชุดนี้ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก เนื่องจากเนื้อดินไม่อุ้มน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และยังเกิดกษัยการอย่างรุนแรงอีกด้วย ดังนั้นการเพาะปลูกจึงควรจะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสียก่อน 
            ชุดดินโพนพิสัย (Phon Pai Say Series) เป็นกลุ่มดินหลักที่พบทั่วไปในประเทศไทยเช่นกัน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (USDA) จัดไว้อยู่ในกลุ่มของ Red Yellow Podzolic Soil เป็นดินเก่าที่มีหน้าดินดี พบทั่วไปบริเวณภูเขา และที่ลาดเชิงเขา หรือที่ราบขั้นบันไดเก่า เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินที่มาจากหลายประเภท ส่วนใหญ่เป็นหินที่มีปฏิกิริยาที่เป็นกรด หรือปฏิกริยาที่ดินเป็นกลาง ที่มีการระบายน้ำได้ดี ลักษณะของเนื้อดินเปลี่ยนแปลงได้มาก ลักษณะดินค่อนข้างหยาบ ถึงค่อนข้างละเอียด สีของดินจะเป็นสีแดงเหลืองปนแดง และเหลือง พื้นที่ส่วนใหญ่ที่พบดินโพนพิสัยนี้ ถูกปกคลุมด้วยป่าเต็งรังและเสื่อมโทรม หรือแม้ทุ่งหญ้ามีเพียงเล็กๆ ที่เป็นการเพาะปลูกพืชไร่ และมักพบศิลาแลงในชั้นดินที่มีความลึกตั้งแต่ 30 เซนติเมตร เป็นต้นไป แต่ในกลุ่มหลักแล้วดินชุดนี้ไม่เหมาะแก่การทำการเกษตรในที่สูง เนื่องจากการเกิดกษัยการอย่างรุนแรงมาก อีกทั้งความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ กักเก็บน้ำได้ยากจึงไม่เหมาะแก่การทำนา 
            หน่วยดินผสม (Ploppe Complex) เป็นดินที่ประกอบด้วยชุดดินอย่างน้อย 2 ชุดขึ้นไป เป็นดินที่เกิดในภูมิประเทศติดต่อกัน มีลักษณะการพบชุดของดินที่สับสน ในพื้นที่กษัยการที่เป็นดินที่เกิดขึ้นบนที่มีความลาดชันสูง วัตถุที่ให้กำเนิดเป็นหินทราย เนื้อดินจึงมีความหยาบ การระบายน้ำได้ดี จึงเหมาะแก่การเพาะปลูก รวมทั้งกษัยการของดินยังรุนแรงบริเวณที่พบ ดินชุดนี้จึงเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม หรือป่าเต็งรัง ความอุดมสมบูรณ์ของดินก็ต่ำไปด้วย 
            ตะกอนใหม่ (Recent Aulluvium) เป็นดินที่เกิดจากการพัดพาของน้ำ เช่น กรวด หิน ดิน ทราย และสิ่งอื่นๆ ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่งมาสะสมไว้เกิดเป็นที่ราบข้างตลิ่ง มักจะมีอินทรีย์สารสูง สีดินเข้ม เนื้อดินร่วนซุย เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชที่ต้องการน้ำมาก 
            หน่วยดินที่ 2 สภาพพื้นที่ ลาดชันเล็กน้อยถึงปานกลาง ความลึกของดินลึก ลักษณะของดินมีเนื้อหินดินค่อนข้างหยาบถึงปานกลาง มีการระบายน้ำดี ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ปานกลาง การใช้ประโยชน์ปลูกพืชไร่ 
          หน่วยดินที่ 3 สภาพพื้นที่ ลาดชันเล็กน้อยถึงสูง ความลึกของดิน ตื้นถึงค่อนข้างตื้น ลักษณะของดิน มีเศษหิน กรวด ลูกรังปะปนในชั้นดิน การระบายน้ำดีถึงค่อนข้างเลว ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ การใช้ประโยชน์พื้นที่เป็นไม้พุ่ม 
            หน่วยดินที่ 4 สภาพพื้นที่ ลาดชันปานกลางถึงสูง ความลึกของดิน ตื้น มีหินโผล่ลักษณะของดินเป็นบริเวณที่ดินตื้นมีหินโผล่ หรือโขดหินล้วน ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำมาก การใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ป่า 
            ดินชุดโคราช (Korat Series) เป็นดินที่เกิดจากตะกอนของน้ำเก่าเช่นกัน ดินชั้นบนลึกระหว่าง 0- 60 เซนติเมตร เป็นดินร่วน หรือร่วนปนทราย ส่วนที่ลึกเกิน 60 เซนติเมตร ลงไป จะมีเนื้อดินละเอียดกว่าเป็นพวกดินร่วนปนทราย หรือดินร่วน บางแห่งอาจเป็นดินร่วนปนดินเหนียว แต่โดยทั่วไปแล้วจะพบเนื้อดินพวกดินร่วนปนทรายตลอดทุกชั้นของดิน ดินชั้นบนจะมีสีน้ำตาลปนเทา เมื่อเปียกน้ำจะมีสีเข้มขึ้น เมื่อแห้งจะมีสีเทาอ่อน ดินชั้นล่างมีสีน้ำตาล หรือน้ำตาลปนเหลือง จุดสีในดินส่วนมากไม่ค่อยมีจุดสีปรากฏให้เห็น ในดินชั้นบนเห็นได้ชัดกว่าดินชั้นล่างแต่จะมีบ้างในดินชั้นล่างที่มีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทรายมีความเป็นกรดด่างประมาณ 4.5 – 5.5 การระบายน้ำอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงดี จะไม่พบศิลาแลงในระดับความลึก 0 – 60 เซนติเมตร 
แหล่งน้ำ (Hydrological Resources) 
           พื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีสายน้ำสำคัญคือ แม่น้ำโขง ใช้เป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไหลผ่านแนวเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ทางด้านทิศตะวันออก และทิศเหนือ เป็นระยะทาง 63 กิโลเมตร ในฤดูแล้งมีระดับน้ำแตกต่างกันประมาณ 15 เมตร ฤดูฝน ระดับน้ำขึ้นสูงสุดในเดือน สิงหาคม – กันยายน

ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพอากาศของอุทยานแห่งชาติผาแต้มสามารถแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ 
           ฤดูร้อน เริ่มประมาณกลางเดือน กุมภาพันธ์ ถึงประมาณกลางเดือน พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เปลี่ยนจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (หรือที่เปลี่ยนจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูฝน) เป็นระยะที่ขั้วโลกเหนือหันเข้าหาดวงอาทิตย์โดยเฉพาะในเดือนเมษายนประเทศไทยจะเป็นประเทศหนึ่งที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ลำแสงของดวงอาทิตย์จะตั้งฉากกับพื้นผิวโลกจึงทำให้ได้รับแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่   
            ฤดูฝน เริ่มประมาณกลางเดือน พฤษภาคม ถึงประมาณกลางเดือน ตุลาคม ฤดูนี้จะเริ่มเมือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นลมชื้นพัดปกคลุมประเทศไทย ขณะที่ร่องความกดอากาศต่ำ (แนวร่องที่ก่อให้เกิดฝน) พาดผ่านประเทศไทยทำให้มีฝนชุกทั่วไป ร่องความกดอากาศต่ำนี้ปกติจะเริ่มพาดผ่านภาคใต้ในเดือนเมษายน แล้วจึงเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก ภาคเหนือและอีสาน ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ตามลำดับ ประมาณปลายเดือนมิถุนายนจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ฝนในประเทศไทยลดลงระยะหนึ่งและเรียกว่าเป็น “ฝนทิ้งช่วง”  
            ฤดูหนาว เริ่มประมาณกลางเดือน ตุลาคม ถึงประมาณกลางเดือน กุมภาพันธ์ เมื่อมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มพัดปกคลุมประเทศไทยประมาณกลางเดือนตุลาคม ซึ่งจะนำความหนาวเย็นมาสู่ประเทศไทยเป็นระยะที่ขั้วโลกใต้หันเข้าหา ดวงอาทิตย์ ตำแหน่งลำแสงของดวงอาทิตย์ทำมุมฉากกับผิวพื้นโลกขณะเที่ยงวันจะอยู่ทางซีกโลกใต้ ทำให้ลำแสงที่ตกกระทบกับพื้นที่ในประเทศไทยเป็นลำแสงเฉียงตลอดเวลา
            อุณหภูมิเฉลี่ย 26.9 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.0 องศาเซลเซียส สรุปอุณหภูมิ ปี 54 อุณหภูมิต่ำสุดปี 8.5 องศาเซลเซียส ช่วงเดือน มกราคม อุณหภูมิสูงสุด 42 องศาเซลเซียส ช่วงเดือน เมษายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 1581.4 มม. ช่วงเดือน กันยายน 
สภาพป่าโดยทั่วไปเป็น ป่าเต็งรัง เสียส่วนใหญ่ ตามพื้นที่มีหินโผล่ ลักษณะเป็นป่าโปร่งต้นไม้ขนาดกลาง และขนาดเล็ก แต่มีความสวยงามตามธรรมชาติ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง ประดู่ และเหมือดต่างๆ พืชพื้นล่างเป็นพวกไผ่ป่า หญ้าต่างๆ ข่อยหิน และยังมีไม้ดอกที่สวยงามขึ้นอยู่ตามซอกลานหินทั่วไป เช่น หยาดน้ำค้าง แดงอุบล เอ็นอ้า เหลืองพิสมร กระดุมเงิน ตั้งไก่(หัวไก่โอก) มณีเทวา ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากกระจายทั่วพื้นที่ สภาพป่าจะเปลี่ยนเป็น ป่าดิบแล้ง ในบริเวณที่ราบลุ่มแถบริมห้วยหรือริมแม่น้ำ เนื่องจากมีความชุ่มชื้นพอประมาณตลอดปี นอกจาก นี้ ยังพบป่าสนสองใบที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ กระจัดกระจายในส่วนที่เป็นพื้นราบบนภูต่างๆ ทั่วพื้นที่ 
            สัตว์ป่า ประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ยังไม่พบ พบแต่ขนาดเล็กลงมา สัตว์ป่าที่พบได้ทั่วไป เช่น อีเห็น สุนัขจิ้งจอก กระต่ายป่า อีเก้ง ชะมด บ่าง ในฤดูแล้งเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงมาก จะพบเห็นสัตว์ประเภทหมูป่า เลียงผา ว่ายน้ำข้ามมาจากฝั่งประเทศลาวอยู่เสมอๆ เนื่องจากอาณาเขตบางส่วนอยู่ในลำน้ำโขงมีปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ มากมาย ได้แก่ ปลาบึก ปลาตะเพียน ปลาคลัง ปลาเทโพ ปลากรด ปลาตูนา ปลาหมอ ปลากาย ปลาแข้เป็นต้น นกนานาชนิดที่พบเห็น เช่น นกขุนทอง นกยูง เหยี่ยว อีกา นกขุนแผน นกกระเต็น เป็นต้น

การเดินทาง

ถยนต์ จากจังหวัดอุบลราชธานีไปยังอำเภอโขงเจียม ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร แล้วเดินทางไปตามเส้นทางยุทธศาสตร์สายโขงเจียม-เขมราฐ อีก 15 กิโลเมตร เลี้ยวขวาต่อไปอีก 5 กิโลเมตร จะถึงภูผาขาม ท้องที่บ้านหนองผือน้อย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม ซึ่งที่ทำการอุทยานแห่งชาติผาแต้มตั้งอยู่ ปัจจุบันเส้นทางนี้ไปสิ้นสุดบนลานภูผาขาม เป็นส่วนที่ตั้งของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

ที่ตั้งและข้อมูลทั่วไป

สถานที่ติดต่อ : ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี 34220 
โทรศัพท์ : 0 4525 2581
โทรสาร : 0 4525 2582
อีเมล : phataem_np@hotmail.com 
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายประมวล รัตนวัน
ตำแหน่ง : นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ

กิจกรรมในอุทยานแห่งชาติ

ทางเดินศึกษาธรรมชาติ ⇔ ทางเดินป่า ⇔ เที่ยวน้ำตก ⇔ เที่ยวถ้ำ/ศึกษาสภาพธรณี ⇔ ชมประวัติศาตร์/วัฒนธรรม ⇔ ชมพรรณไม้ ⇔ ดูนก/ดูผีเสื้อ ⇔ ดูดาว ⇔ จักรยานเสือภูเขา ⇔ ล่องเรือ

ร้านค้าสวัสดิการ

ร้านค้าสวัสดิการ (ผาแต้ม) ร้านอาหาร และ ร้านสวัสดิการขายของที่ระลึก                 เวลาเปิด – ปิด  06.00 น. – 18.00 น.
ร้านค้าสวัสดิการ (น้ำตกสร้อยสวรรค์) ร้านอาหาร และ ร้านสวัสดิการขายของที่ระลึก  เวลาเปิด – ปิด  06.00 น. – 18.00 น.

สัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่

1. ที่ทำการอุทยานแห่งชาติผาแต้ม             AIS, TRUE, DTAC
2. ผาแต้ม                                                 AIS, TRUE, DTAC
3. น้ำตกสร้อยสวรรค์                                  TRUE, DTAC
4. น้ำตกแสงจันทร์                                     AIS
5. น้ำตกทุ่งนาเมือง                                    AIS, TRUE
6. ผาชะนะได                                            AIS, TRUE

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได่ที่ http://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=957

Call Now Button